การทำประกันรถยนต์ เป็นสิ่งที่ดีที่ควรทำ แต่ก็ไม่รู้จะทำดีไหม เพราะมีข้อสงสัยมากมายที่ทางบริษัทประกันไม่เคยจะบอก ทำให้ไม่ค่อยมั่นใจ แต่ไม่ต้องกังวลวันนี้ทางiplaynew.com ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องประกันรถ ที่บริษัทฯไม่เคยบอกคุณ
1. เมาแล้วขับ ประกันไม่จ่ายแน่นอน
ปัจจุบันมีการออกกฎหมายใหม่เกี่ยวกับการดื่มแอลกอฮอล์ โดยกฎหมายระบุว่า บริษัทประกันภัย ไม่ต้องคุ้มครองความรับผิดชอบผู้ขับขี่ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเส้นเลือดตั้งแต่ 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ซึ่งผู้ขับขี่ที่ทำผิดกฎหมายจะต้องรับโทษจับคุกไม่เกิน 1 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000-20,000บาท ดังนั้น เมาไม่ขับ ไม่ถูกจับ ถูกปรับนะค่ะ
2. ประกันภัยรถยนต์ปลอดแอลกอฮอล์ ได้ลดค่าเบี้ยประกันภัยรถยนต์ 10%
คปภ.ร่วมกับบริษัทประกันวินาศภัย ประกันภัยรถยนต์ปลอดแอลกอฮอล์ โดยผู้เอาประกันภัยจะได้รับส่วนลดเบี้ยประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจทุกประเภทเป็นส่วนลดอื่นในอัตราร้อยละ 10 ของเบี้ยประกันภัยสุทธิ เพียงแค่ผู้เอาประกันภัยแจ้งกับบริษัทที่รับประกันภัยว่าขอเพิ่มเติมสัญญาแนบท้ายตัวนี้เพื่อใช้เป็นหลักฐานว่าผู้เอาประกันภัยจะขับขี่รถยนต์โดยปลอดแอลกอฮอล์ก็จะได้รับส่วนลดทันที่ร้อยละ 10 ซึ่งขณะนี้มีบริษัทประกันภัยที่ได้รับความเห็นชอบให้ใช้เอกสารแนบท้ายและอัตราเบี้ยประกันภัย ปลอดแอลกอฮอล์นี้แล้วทั้งสิ้น 10 บริษัท ประกอบด้วย บมจ. เทเวศประกันภัย บมจ. ทิพยประกันภัย บมจ. สมโพธิ์ เจแปน นิปปอนโคอะ ประกันภัย บมจ.ไทยศรีประกันภัย บมจ.อาคเนย์ประกันภัย บมจ.ไทยประกันภัย บมจ.กรุงเทพประกันภัย บมจ.ชับบ์สามัคคีประกันภัย บมจ. เมืองไทยประกันภัย และบมจ. ประกันภัยไทยวิวัฒน์
ขอขอบคุณข้อมูลจาก>>คปภ.สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย
3. ไม่มีใบขับขี่ ประกันรถยนต์ จ่ายไหม
ไม่มีใบขับขี่แล้วเกิดอุบัติเหตุ บริษัทประกันภัยรถยนต์อาจปฏิเสธความคุ้มครองบางส่วน แยกเป็นกรณีไป ดังนี้
– ความคุ้มครองต่อบุคคลภายนอก บริษัทประกันจะจ่ายค่าเสียหายต่อร่างกาย และทรัพย์สินให้กับบุคคลภายนอกที่ประสบเหตุด้วย จ่ายเต็มจำนวน และเรียกเก็บเงินจากผู้ทำประกันไม่ได้
– ความคุ้มครองความเสียหายต่อตัวรถ กรณีผู้ทำประกันเป็นฝ่ายถูก ประกันรถยนต์คุ้มครองให้ กรณีเป็นฝ่ายผิด บริษัทประกันไม่คุ้มครอง แต่ถ้าเป็นกรมธรรม์แบบระบุผู้ขับขี่ แล้วขณะเกิดอุบัติเหตุ ผู้ขับขี่เป็นผู้ที่ระบุชื่อไว้ในกรมธรรม์ บริษัทประกันภัยรถยนต์คุ้มครองให้ เพราะการทำประกันรถยนต์แบบระบุชื่อผู้ขับขี่ บริษัทประกันรถพิจารณาดีแล้วถึงความสามารถของผู้ขับขี่ ตอนที่รับทำประกันรถ
– ความคุ้มครองกรณีรถหาย ความเสี่ยงภัยน้ำท่วม ยังคงคุ้มครองเหมือนเดิม เพราะความสามรถการขับขี่ไม่มีผลต่อความเสี่ยงภัยเหล่านี้
4.ชื่อผู้ทำประกัน กับผู้ที่ขับรถจริงเป็นคนละคน ประกันรถคุ้มครองไหม
จริงๆแล้วผู้ใช้รถควรเป็นผู้ที่ทำประกันแบบระบุชื่อไว้ พอเกิดอุบัติเหตุจะได้ไม่มีปัญหา แต่ในกรณีที่มีการขายรถไป ความคุ้มครองของประกันภัยรถยนต์ก็ยังคงติดกับตัวรถที่ขายไป จนกว่ากรมธรรม์นั้นจะหมดอายุ แม้ว่าผู้ขับขี่จะระบุเป็นชื่อผู้ทำประกันคนเก่า แต่ความคุ้มครองยังใช้งานได้ ผู้ขับขี่ที่ซื้อรถพร้อมกรมธรรม์นี้ก็จะได้รับความคุ้มครองเช่นกัน ทั้งนี้ต้องไม่เมาแล้วขับ และต้องมีใบขับขี่ด้วย
5.นำรถไปลากจูงแล้วเกิดอุบัติเหตุ ประกันภัยรถยนต์รับผิดชอบไหม
หากนำรถยนต์ส่วนบุคคลไปลากจูงรถคันอื่น แล้วเกิดอุบัติเหตุ เชือกขาด ทำให้รถคันที่ถูกลากไหลไปชนรถ หรือทรัพย์สินผู้อื่นเสียหาย กรณีนี้ประกันรถยนต์ไม่รับผิดชอบค่าเสียหายใดทั้งสิ้น เพราะเป็นข้อยกเว้นของกรมธรรม์
6.ติดตั้งโครงเหล็กหลังคาเพิ่มเติม ต้องแจ้งประกันหรือไม่
รถกระบะที่ทำ ประกันรถยนต์ ไว้ แล้วมาติดตั้งโครงเหล็กภายหลัง ยังไม่ได้แจ้งทางบริษัทประกัน หากเกิดอุบัติเหตุเสียหาย ประกันรถไม่คุ้มครองส่วนที่เพิ่มเติมมา ก็คือ โครงเหล็ก เจ้าของรถต้องรับผิดชอบส่วนนี้เอง ถ้าอยากให้ทางประกันคุ้มครอง จะต้องแจ้งบริษัทประกันให้ทราบ ควรเพิ่มราคาประกันรถและเบี้ยประกันเพื่อคุ้มครคองส่วนนี้ด้วย
7.ติดตั้งแก๊ส lpg หรือ ngv ต้องแจ้งบริษัทประกันหรือไม่
อันที่จริงควรแจ้งบริษัทประกันภัยให้ทราบว่ารถเรามีการติดตั้งแก๊สเพิ่มเติม หากเกิดอุบัติเหตุ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายผิดหรือฝ่ายถูก ก็จะได้รับความคุ้มครองส่วนอุปกรณ์แก๊สด้วย แต่ถ้าไม่แจ้งทางประกันให้ทราบ หากเกิดเหตุ แล้วเป็นฝ่ายถูกก็ไม่ต้องกังวล เพราะคุณสามารถเรียกร้องค่าเสียหายต่อถังแก๊สได้ ต้องเรียกร้องเอง บริษัทประกันรถจะไม่ช่วยเรียกร้อง แต่ถ้าเป็นฝ่ายผิดก็ต้องรับผิดชอบค่าเสียหายต่ออุปกรณ์ติดแก๊สเอง
8.ติดแก๊สแต่ไม่บอกประกัน ต่อมาเกิดไฟไหม้ ประกันรถคุ้มครองอย่างไร
อย่างที่กล่าวมาในข้อ 6 ว่าถ้าติดแก๊สแล้วไม่แจ้งทางประกัน หากเกิดอุบัติเหตุ ประกันไม่รับผิดชอบต่ออุปกรณ์แก๊ส แต่ประกันรถยนต์จะจ่ายค่าสินไหม ในส่วนของสูญหาย ไฟไหม้ ตามความคุ้มครองในตารางกรมธรรม์ เฉพาะประกันรถยนต์ชั้น1 และประกันรถยนต์ชั้น2+
9.การเคลมแห้ง การเคลมสด
การเคลมแห้ง คือ การเคลมที่ไม่ต้องมีเจ้าหน้าที่มาดูที่เกิดเหตุ รถเป็นแผลเล็กน้อยไม่มีคู่กรณี ให้เข้าไปเคลมที่อู่ซ่อมได้เลย จะมาเคลมเมื่อใดก็ได้ ก่อนกรมธรรม์หมดอายุ
การเคลมสด คือ การเคลมที่ต้องมีเจ้าหน้าที่มาดูที่เกิดเหตุ มาดูความเสียหายที่เกิดขึ้น ต้องเป็นกรณีที่รถชนรถ มีคู่กรณี หรือมีผู้ได้รับบาดเจ็บ รถผู้เอาประกันกับรถคู่กรณีเสียหายหนัก ผู้เอาประกันหรือคู่กรณีจะได้รับใบหลักฐานการติดต่อชดใช้ค่าเสียหายจากเจ้าหน้าที่เคลม และไปติดต่อเข้าซ่อมที่อู่ในเครือบริษัทประกันภัยได้ทันที
10.ค่า Excess ต้องจ่ายตอนไหน
ค่าเสียหายส่วนแรก (ค่า Excess ) จำนวน 1,000 บาท ต้องจ่ายเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นกรณีเกิดการชนหรือรถคว่ำ รวมถึง ถูกขูดขีด ชนต้นไม้ อื่นๆ แล้วผู้เอาประกันไม่สามารถหาคู่กรณีมารับผิดได้ ถ้าจะมาเคลมรถต้องเสีย ค่า Excess แก่ทางประกัน
11.ถูกคู่กรณียิงเสียชีวิตในรถ ประกันรถยนต์รับผิดชอบหรือไม่
เหตุการณ์นี้ต้องพิจารณาเป็น 2 แบบ คือ 1.ประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ หรือ พ.ร.บ.รถยนต์ จะไม่คุ้มครองกรณีถูกยิงเสียชีวิตในรถ เพราะพ.ร.บ.รถยนต์จะคุ้มครองเฉพาะผู้บาดเจ็บ หรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถเท่านั้น 2.ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัคใจ ประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 ,2, 2+, 3 และชั้น3+ จะได้รับความคุ้มครองตามเอกสารแนบท้าย (หากบริษัทประกันภัยนั้นมี) กรณีบาดเจ็บได้รับความคุ้มครองตาม ร.ย.02 การประกันภัยค่ารักษาพยาบาล กรณีเสียชีวิตได้รับความคุ้มครองตาม ร.ย.01 การประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล
12.รถเสียหายจากการก่อการร้าย
ประกันรถยนต์ ไม่คุ้มครองความเสียหายที่เกิดจากการก่อการร้าย ไม่จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แม้ว่าจะทำประกันรถยนต์ชั้น1 ก็ตาม ก่อนทำประกันจึงควรอาจรายละเอียด ข้อยกเว้นที่บริษัทประกันภัยรถยนต์จะไม่คุ้มครองด้วย จะได้ขับรถระวัง ไม่ขับรถไปในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภัยก่อการร้าย (ถ้าเกิดเหตุไม่คาดคิดขึ้นทำให้รถเสียหายหนัก ใช้งานไม่ได้แล้ว ก็ให้ยกเลิกกรมธรรม์ แล้วเอาเบี้ยประกันที่เหลือคืน ทางบริษัทจะคืนให้ตามราคาที่ทำประกันภัยกำหนดเอาไว้)
13.ทุนประกันเท่าไหร่ จะเหมาะสมกับรถเรา
ประกันภัยรถยนต์ชั้น1 ทุนประกันประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ของราคารถปัจจุบัน จึงเหมาะสม เช่น รถราคาอยู่ที่ 800,000 บาท ทุนประกันที่เหมาะสมคือ 700,000 บาท ทุนประกันสามารถยืดหยุ่นได้นิดหน่อย แล้วถ้ารถติดตั้งอุปกรณ์ตกแต่ง เช่น ติดโครงเหล็ก ติดแก็ส ติดล้อแมกซ์ มูลค่าเกิน 15,000 บาท ต้องแจ้งบริษัทประกันรถยนต์ก่อนทำประกันภัยรถยนต์ บริษัทฯจะแนะนำให้เพิ่มทุนประกันเข้าไปเพื่อความเหมาะสม และสามารถคุ้มครองอุปกรณ์ตกแต่งทุกชิ้นด้วย
14.รถพังเสียหายหนัก ไม่สามารถใช้งานต่ออาจถูกคนทุน
กรณีเกิดอุบัติเหตุชนอย่างแรง ทำให้รถได้รับความเสียหายอย่างหนัก มาสามารถใช้งานต่อได้ นำมาซ่อมให้เหมือนเดิมไม่ได้ บริษัทประกันพิจารณาจากค่าซ่อม มากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ หรือ 90 เปอร์เซ็นต์ของทุนประกันแล้วแต่บริษัทฯ อย่างนี้บริษัทประกันรถจะคืนทุนประกันให้ แต่ให้โอนซากรถให้บริษัทฯ กรมธรรม์ก็จะหมดความคุ้มครองทันที
15.ค่าขนย้ายหลังเกิดอุบัติเหตุ ใครเป็นคนจ่าย
ค่าขนย้ายหลังเกิดอุบัติเหตุ บริษัทประกันภัยจะเป็นผู้รับผิดชอบเองทั้งหมด ไม่ว่าต้องขนย้ายกี่ครั้ง แต่ต้องไม่เกิน 20%ของค่าความเสียหายทั้งหมด หากเกิน เจ้าของรถต้องจ่ายค่าส่วนเกินเอง
16.ชนแล้วหนี โทษหนักคดีอาญา
กรณีเกิดอุบัติเหตุขับรถชนคน ห้ามชนแล้วหนีเด็ดขาด ให้ลงมาช่วยเหลือคนบาดเจ็บอย่างเต็มที่ และควรถ่ายรูปเก็บหลักฐานที่เกิดเหตุไว้ด้วย เพื่อเอาไว้สู้คดี เพราะศาลอาจพิจารณาลดโทษทางอาญาลง เหลือแค่รอลงอาญา และตกลงชดเชยค่าเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้น เนื่องจากเห็นความมีน้ำใจที่คุณได้ช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บ ถ้าเกิดคุณ ชนแล้วหนี จะต้องรับโทษจำคุก และยังถูกปรับอีกด้วย
17.ไม่มั่นใจอย่าเซ็นรับผิดในใบเคลม
หากเกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชนขึ้น แล้วไม่มั่นใจว่าใครผิดใครถูก อย่าเซ็นรับผิดในใบเคลมเด็ดขาด รอให้เจ้าหน้าที่ของบริษัทประกันที่คุณทำประกัน มาถึงที่เกิดเหตุก่อน เพราะเจ้าหน้าที่เคลมของบริษัทจะทำการตกลงกับคู่กรณีเอง
cr. iplaynew.com